Lifestyle

ความสำคัญของช่วงเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา

กลับมาถึงช่วงวันพระใหญ่อย่างช่วง “เข้าพรรษา” กันอีกแล้วสินะครับและรอบนี้ก็เป็นช่วงหยุดยาวที่หลายๆ ท่านก็คงจะวางแผนไปท่องเที่ยวหรือเดินทางกลับกันอย่างคับคั่งเลย ซึ่งวันเข้าพรรษานั้นมีนัยสำคัญที่หลายๆ ท่านน่าจะศึกษาเอาไว้เป็นความรู้คร่าวๆ กันดูนะครับ เพื่อเป็นการไม่เสียเวลานั้น วันนี้เราจึงอยากกล่าวถึง “ความสำคัญของช่วงเข้าพรรษา” กันครับ

วันเข้าพรรษา คืออะไร?

วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำที่ ไม่จาริกไปค้างแรมตามสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็น เป็นระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน คือตั้งแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ซึ่ง วันเข้าพรรษาปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ พุธที่ 2 สิงหาคม 2566 จะเป็นวันที่พระสงฆ์นิกายเถรวาทจะจำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันออกพรรษานั้นเองครับ

ตามตำนานพระพุทธศาสนาได้จารึกไว้ว่า “สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย” นั้นเองครับ

ความสำคัญของวันเข้าพรรษา

●ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์

●หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 – 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน

●เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา

●เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

●เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

3 ข้อห้ามโบราณ ที่ห้ามทำช่วง วันเข้าพรรษา

 ●ห้ามแต่งงาน เนื่องจากการแต่งงานสมัยโบราณจะต้องมีการนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมพิธีกรรม การเดินทางสมัยก่อนบางครั้งบ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่ไกล พื้นที่บางแห่งเดินทางยากต้องมีการค้างแรม ไม่สะดวกที่จะให้พระสงฆ์เดินทางเพราะ พระพุทธเจ้ามีการห้ามมิให้พระสงฆ์ไปค้างแรมที่อื่นในระหว่างเข้าพรรษา ฉะนั้นจึงมีการห้ามลูกหลานแต่งงงานระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา

●ห้ามผิดศีล คนโบราณเชื่อว่าการรักษาศีลระหว่างเทศกาลเข้าพรรษาจะได้บุญ เพราะคือระยะเวลาที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษาที่วัด ศึกษาพระธรรม ปฏิบัติกิจสงฆ์อย่างเคร่งครัด ฉะนั้นใครที่ผิดศีลจะบาป สมัยพุทธกาลพระสงฆ์มีการแตกแยกกัน ไม่พูดจากัน เมื่อออกพรรษาภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ข่าวก็ทรงตำหนิ และกำหนดให้กระทำปวารณาต่อกัน และกำชับว่าระหว่างเทศกาลเข้าพรรษาต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด

●ห้ามมีเพศสัมพันธ์ ธรรมเนียมคนสมัยก่อนจะเชื่อว่าวันพระ วันโกน รวมทั้งวันเข้าพรรษาคือวันที่บริสุทธิ์ แต่การเสพสังวาส และการล่วงเกินพรหมจรรย์คือสิ่งที่ต่ำ จึงห้ามการสมสู่กันระหว่างชายหญิงซึ่งมีการห้ามสามีภรรยาด้วย

และนี้ก็คือความรู้เกี่ยวกับ “ความสำคัญของช่วงเข้าพรรษา” ที่พวกเราได้รวบรวมมาฝากท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านกันในบทความข้างต้นนี้กันครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกันนะครับ